เทคนิคการเขียนโครงการ
เทคนิคการเขียนโครงการ
ชื่อโครงการ
ระบุชื่อโครงการตามความเหมาะสม มีความหมายชัดเจน และเรียกเหมือนเดิมทุกครั้ง จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ
หลักการและเหตุผล
เขียนแสดงให้เห็นถึงหลักการสำคัญของประเด็นหลักตามชื่อโครงการ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ
ส่วนเหตุผลที่ต้องจัดทำโครงการ ควรเขียนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องจัดทำ หรือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา ก็ได้ และในตอนท้ายสุด ควรจะระบุให้เห็นถึงเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการ
วัตถุประสงค์
เป็นการบอกให้ทราบว่า การดำเนินงานตามโครงการนั้นมีความต้องการให้อะไรเกิดขึ้นวัตถุประสงค์ที่ควรจะระบุไว้ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้และวัดและประเมินผลได้ ในระยะหลัง ๆ นี้ มักจะเขียนวัตถุประสงค์เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม คือเขียนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเขียนเป็นนามธรรม การทำโครงการหนึ่ง ๆ อาจจะมีวัตถุประสงค์ มากกว่า 1 ข้อได้ แต่ทั้งนี้การเขียนวัตถุประสงค์ไว้มาก ๆ อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติมองไม่ชัดเจน และอาจจะดำเนินการให้บรรลวัตถุประสงค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน-ปฏิบัติได้-วัดได้ เพียง 1-3 ข้อ
เป้าหมาย
ระบุว่าจะดำเนินการสิ่งใด โดยพยายามแสดงให้ปรากฏเป็นรูปตัวเลขหรือจำนวนที่จะทำได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด การระบุเป้าหมาย ระบุเป็นประเภทลักษณะและปริมาณ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถในการทำงานของผู้รับผิดชอบโครงการ
เชิงคุณภาพ
คือ เป้าหมายที่ไม่สามารถนับจำนวนได้ แต่เป็นสิ่งที่มุ่งหวังให้บังเกิดผล เช่น นักศึกษามีเจตคติที่ดีในการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
เชิงปริมาณ
คือ เป้าหมายที่นับจำนวนได้ เช่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต มีจำนวน 150 คน
วิธีการ/กิจกรรมในการดำเนินงาน
คือ งานหรือภารกิจซึ่งจะต้องปฏิบัติในการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ในระยะการเตรียมโครงการจะรวบรวมกิจกรรมทุกอย่างไว้แล้ว นำมาจัดลำดับว่าควรจะทำสิ่งใดก่อน-หลัง หรือพร้อม ๆ กัน แล้วเขียนไว้ตามลำดับ จนถึงขั้นตอนสุด ท้ายที่ทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์
สถานที่ดำเนินการ
ให้ระบุพื้นที่ในการดำเนินงานโครงการ
ระยะเวลาการดำเนินการ
คือ การระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ ปัจจุบันนิยมระบุ วัน-เดือน-ปี ที่เริ่มต้น และเสร็จสิ้น การระบุจำนวน ความยาวของโครงการเช่น 6 เดือน 2 ปี โดยไม่ระบุเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุด เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ไม่สมบูรณ์
งบประมาณ
เป็นประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของโครงการ ซึ่งควรจำแนกรายการค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน งบประมาณ การระบุยอดงบประมาณ ควรระบุแหล่งที่มาของงบประมาณด้วย นอกจากนี้หัวข้อนี้สามารถระบุ ทรัพยากรอื่นที่ต้องการ เช่น คน วัสดุ ฯลฯ
ผู้รับผิดชอบ
เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบโครงการ โครงการย่อย ๆ บางโครงการระบุเป็นชื่อบุคคลผู้รับผิดชอบเป็นรายโครงการได้
ตัวชี้วัดความสำเร็จ
คือ ผลที่สะท้อนความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และจากการดำเนินการที่แสดงในรูปเป้าหมายเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ
การประเมินผล
ให้บอกแนวทางว่าการติดตามประเมินผลควรทำอย่างไรในระยะเวลาใดและใช้วิธีการ อย่างไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งผลของการประเมินสามารถนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการ เตรียมโครงการที่คล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องในเวลาต่อไป
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้างใครเป็นผู้ได้รับ เรื่องนี้สามารถเขียนทั้งผลประโยชน์โดยตรงและผลประโยชน์ในด้านผลกระทบของโครงการด้วยได้
แก้ไขล่าสุด (วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2012 เวลา 14:39 น.)